โรคลิวคีเมียแมวก็มีระบาดอยู่ในเมืองไทย

Posted Pongpao Hosathitam Cat

โรคไวรัสลิวคีเมียแมว (FeLV)

โดย นส.พ.พงษ์เผ่า หอสถิตย์ธรรม

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาดูเหมือนคนรักแมวทั้งหลายในเชียงใหม่ส่วนใหญ่แทบไม่มีใครรู้จักโรคแมวที่ชื่อ โรคลิวคีเมียแมว แต่อย่างใด (โรคซึ่งคร่าชีวิตแมวหนุ่มมานักต่อนักแล้ว) แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้วโรคนี้อาจแพร่ระบาดอยู่ในเชียงใหม่มาช้านานแล้วก็ตาม  เป็นที่ทราบกันดีในโลกซีกตะวันตกมาช้านานนับตั้งแต่ช่วงระหว่างทศวรรษ 1960 เป็นต้นมาว่าไวรัสชนิดนี้เป็นตัวการก่อให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือ มะเร็งเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งในระบบต้นกำเนิดเม็ดเลือด แต่ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าไวรัสชนิดนี้ยังเกี่ยวข้องกับสภาวะความเจ็บป่วยอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมะเร็งแต่อย่างใด โดยอาจกล่าวได้ว่าพบเห็นสภาวะนี้มากกว่ากรณีของมะเร็งเสียอีก

Feline Leukemia Virus

ลักษณะเชื้อไวรัสลิวคีเมียแมว

ขอขอบคุณผู้ผลิตชุดตรวจโรคลิคีเมียที่ทำให้ซื้อหาได้ง่ายในราคาไม่แพงมากนัก เดี๋ยวนี้เราสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้สะดวกมากเพียงแค่เก็บตัวอย่างเลือดมาเล็กน้อยจากแมวที่สงสัยจะป่วยด้วยโรคนี้แล้วหยดตัวอย่างเลือดดังกล่าวในปริมาณจำเพาะลงบนชุดตรวจก็จะทราบผลภายใน 10 นาที เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตรงกับวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฏาคม 2557 เจ้าของได้พาแมวหนุ่มโตเต็มวัยชื่อ “งิ้ว” อายุ 1 ขวบมาเข้ารับการตรวจรักษาและนอนพักรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนาของเราด้วยอาการ ไข้สูง (106⁰ ฟ) ซึม เบื่ออาหารมานาน 3 วัน (เจ้าของคาดว่าถูกรถชน) และหมอได้ทำการรักษาตามอาการโดยให้น้ำเกลือและยาต้านเชื้อจุลชีพเป็นเวลา 4 วัน พบว่า“งิ้ว”สนองตอบต่อการรักษาเป็นอย่างดีในวันถัดมา ไข้ลดลงเป็นปรกติ (100.6⁰ ฟ) และเริ่มกินอาหารได้ ทางโรงพยาบาลได้แจ้งให้เจ้าของมารับ “งิ้ว”กลับบ้านพร้อมยากินและอาหารเสริมในวันที่ 2 สิงหาคม 2557

แต่ปรากฏว่าอีก 3 วันถัดมา เจ้าของได้พา “งิ้ว”กลับมาตรวจซ้ำที่โรงพยาบาลของเราด้วยอาการที่รุนแรงกว่าเดิม ไข้สูง 105.1⁰ ฟ มีสภาวะดีซ่าน เยื่อเมือกซีด และถ่ายเหลวมีมูกปน

ด้วยอาการที่ปรากฏตามที่กล่าวข้างต้นทางโรงพยาบาลของเราทราบดีว่าต้องมีอะไรที่ร้ายแรงเกิดของกับ “งิ้ว” แน่นอน จึงขออนุญาตเจ้าของเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งตรวจห้องปฎิบัติการ ผลเลือดที่ได้พบว่ามีสภาวะเลือกจางและเม็ดขาวลดลงต่ำกว่าปรกติอย่างมาก (1,800 เทียบกับปรกติ 5,000-14,100) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เฉพาะของโรคลิวคีเมียแมว และปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่าปรกติเช่นกัน โดยความเป็นจริงแล้วเมื่อครั้งมารับการตรวจรักษาวันที่ 4 มกราคม 2557 ทางโรงพยาบาลของเราได้ตรวจเลือดของ “งิ้ว” ด้วยชุดตรวจและพบว่าให้ผลลบต่อโรคเอดส์แมว แต่ให้ผลบวกต่อโรคลิวคีเมียแมว โดย “งิ้ว” ก็มีสุขภาพแข็งแรงดีและมีเหงือกซีดเล็กน้อย ตามที่ทราบๆกันดีในบรรดาเหล่าสัตวแพทย์ทั้งหลายว่าโรคนี้เปรียบเสมือนคำตัดสินประหารชีวิตหากพบว่าแมวตัวได้ติดโรคนี้แล้ว เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายได้อย่างเด็ดขาดแต่อย่างใด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสัตวแพทย์ในอเมริกาบางกลุ่มแนะให้ทำแพทยานุเคราะหฆาต หรือ ปรานีฆาต หรือ การุณยฆาตแก่แมวที่ป่วยเสียเพื่อว่าเขาจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมาน

ทางโรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนาของเราได้ดูแลรักษา “งิ้ว” อย่างเต็มที่ตามความประสงค์ของเจ้าของ ในช่วงที่ “งิ้ว”นอนป่วยรับการรักษาอยู่นั้น เขาแสดงอาการ ถ่ายเหลวเป็นมูก และอาการเจียนบ่อยๆแม้จะได้มีการให้ยาควบคุมอาการดังกล่าวแล้วก็ตาม ในที่สุดภายหลังการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ได้ 4 วัน “งิ้ว” ก็จากไปอย่างสงบ บทเรียนครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับปกป้องแมวอันเป็นที่รักของท่านคือ วัคซีน ท่านสามารถพาแมวของท่านไปรับวัคซีนได้จากคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้บ้านท่าน โดยเข็มแรกฉีดที่อายุ 10 สัปดาห์ แล้วกระตุ้นซ้ำอีกครั้งใน 1 เดือน โชคไม่ดีเลยที่“งิ้ว”ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันนี้เลย (จากคำบอกเล่าจากเจ้าของ)

จงฉีดวัคซีน จงฉีดวัคซีน และจงฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้ครบแก่แมวอันเป็นที่รักของท่าน  ขอท่านจงจำไว้เถิด

This post is also available in: อังกฤษ