โรค Ehrlichiosis เป็นโรคที่เกิดจากเห็บเป็นพาหะนำเชื้อโรค โดยมี เชื้อ Ehrlichia canis (canis) เป็นต้นเหตุของโรคนี้ที่สำคัญที่สุด  ภายหลังจากการฟักตัวนาน 1-3 อาทิตย์แล้วอาจมีขั้นตอนการเกิดโรคดังนี้

  1. แบบเฉียบพลัน เชื้อโรคกระจายตัวจากจุดที่ถูกกัดตรงไปยัง ม้าม ตับ และต่อมน้ำเหลือง ทำให้หลอดเลือดอักเสบและส่งผลให้อายุของเกล็ดเลือดสั้นลง ทำให้ปริมาณเกล็ดเลือดลดต่ำลง เม็ดเลือดขาวมีปริมาณลดลง และเลือดจางเล็กน้อย
  2. แบบไม่แสดงอาการ เชื้อโรควนเวียนอยู่ในร่างกาย ขณะที่ร่างกายมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเพิ่มสูงขึ้น
  3. แบบเรื้อรัง ก่อให้เกิดความบกพร่องของการทำงานของไขกระดูก (กดรั้งการทำงานของไขกระดูกและเกล็ดเลือด)

ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย ได้แก่ การมีเลือดไหลซึมตามจุดต่างๆของร่างกาย  ม้ามโต ระบบประสาท และตา

อาการของโรค

  • อ่อนเพลีย ซึม เบื่ออาหาร
  • น้ำหนักลด ไข้สูง เลือดไหลจากจมูก ปัสสาวะมีเลือดปน การหายใจติดขัด
  • มีอาการทางประสาท (เดินเซ หัวสั่น) เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ปวดที่บริเวณเบ้าตา การอักเสบของยูเวียในตา
  • เดินกระเพลกอันเนื่องมาจากข้ออักเสบ
  • ตับและม้ามโต
  • หลอดเลือดอักเสบ
  • การบวมน้ำและการคั่งของเหลวในร่างกาย
  • อาเจียนและ/หรือท้องเสีย
  • คันตามตัว
  • ปอดบวมและไอ มีน้ำมูกน้ำตาไหล
  • มีการเล็ดของโปรตีนออกทางระบบขับปัสสาวะ
  • เกิดภาวะลิ่มเลือดหลุดอุดหลอดเลือด

การป้องกันและการรักษา

แนะนำให้เน้นเรื่องการป้องกันเห็บกัดซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด 

หากสุนัขป่วยเป็นโรคนี้และได้รับการตรวจวินิจฉัยทราบผลรวดเร็วและเร่งรีบทำการรักษาทันทีก็จะสามารถช่วยชีวิตสัตว์ป่วยได้เป็นอย่างดี  ภายหลังการรักษาแล้วเชื้อโรคอาจถูกกำจัดหมดไปจากร่างกาย หรืออาจหลงเหลือแฝงตัวอยู่ในร่างกายก็ได้  หากกรณียังตรวจพบภูมิคุ้มในร่างกายหลังรักษาอาจเป็นไปได้ทั้งสองกรณี คือ อาจยังมีเชื้อหลงแฝงอยู่ในร่างกาย หรือ ได้รับเชื้อโรคซ้ำอีกจากการถูกเห็บที่มีเชื้อโรคกัดซ้ำอีก  และอีกกรณีคือ เชื้อหมดไปจากร่างกายแต่มีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่  

การจะตัดสินใจจะทำการรักษาซ้ำใหม่อีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการตรวจเลือดหาผลตรวจนับเม็ดเลือดทั้งหมดและผลตรวจเลือดทางเคมี ซึ่งหากผลดังกล่าวปรกติดีก็ไม่จำเป็นต้องรักษาซ้ำ เพราะภูมิคุ้มกันที่ตรวจพบมีผลบวกก็เนื่องมาจากการหลงค้างของภูมิคุ้มกันแต่เดิม  อย่างไรก็ตามในกรณีผลตรวจเลือดดังกล่าวผิดปรกติโดยมีข้อบกชี้ว่ามีการติดเชื้อโรคเข้ามาใหม่  ได้แก่ ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ เลือดจาง  เอ็นไซม์ตับสูง หรือ โปรตีนในปัสสาวะสูงกว่าปรกติ ฯลฯ เป็นต้น ก็จำเป็นต้องทำการรักษาซ้ำใหม่