ความเป็นมา

หลังจากสำเร็จการศึกษาปริญญาสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2521 น.สพ.พงษ์เผ่า หอสถิตย์ธรรม ได้เข้าทำงานด้านการดูแลสุขภาพและจัดการเพิ่มผลผลิตในฟาร์มสุกรและฟาร์มไก่พ่อแม่พันธุ์ของบริษัทเอกชนที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาปลายปี พ.ศ.2526 ด้วยความชอบและรักในงานด้านสุขภาพสุขภาพสัตว์เลี้ยงจึงได้ลาออกจากบริษัทดังกล่าวและมาเปิดคลินิกชื่อ”โชตนาสัตวแพทย์”ในซอยพงศ์สุวรรณ ถนนโชตนา จังหวัดเชียงใหม่ และได้ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบันคือ โรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนา เลขที่ 250/17 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ใกล้เทสโก้โลตัสคำเที่ยง ขณะเดียวกันนั้นได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพและการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตแก่ฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์และสุกรขุนขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ควบคู่ไปด้วย

 ท่องโลก …เสาะหาภูมิความรู้ด้านสัตวแพทยศาสตร์ของสุกรในระดับนานาชาติ

เคยเดินทางไปร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติจัดโดยสมาคมสัตวแพทยศาสตร์ด้านสุกรนานาชาติ หรือ International Pig Veterinary Society (IPVS) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการด้านสุขภาพและการผลิตสุกรและนำมาประยุกต์ใช้ปรับปรุงดูแลสุขภาพและผลผลิตของสุกรในฟาร์มสุกรแบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

เคยดำรงตำแหน่งประธานชมรมสัตวแพทย์ล้านนา ชมรมนี้เป็นศูนย์กลางสำหรับสมาชิกสัตวแพทย์ผู้ร่วมวิชาชีพเดียวกันในภาคเหนืออันประกอบไปด้วยสัตวแพทย์ทั้งที่รับราชการและทำงานในภาคเอกชน โดยสมาชิกทุกคนรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันร่วมมือช่วยกันทำกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากมาย อาทิเช่น การให้บริการความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และด้วยความร่วมแรงร่วมใจของคณะกรรมชมรมฯพร้อมด้วยสมาชิกทุกท่านของชมรมฯในขณะนั้นจึงได้จัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวการจัดการฟาร์มสุกรแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือตอนบน นอกจากนั้นได้เคยร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงสุนัขในภาคเหนือในงานอบรมหลักสูตร การฝึกอบรมการเลี้ยงสุนัข เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2536 ณ ห้องประชุมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันทางโรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนาได้รับการพัฒนาปรับปรุงบริการทุกๆด้าน ทั้งเรื่องการดูแลติดตามเอาใจใส่ด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของท่านอย่างต่อเนื่อง เช่น การติดตามดูแลให้สัตว์เลี้ยงได้รับวัคซีนให้ครบทุกปีและการให้บริการลูกค้าอย่างดี


ตลอดจนการติดตามและพัฒนาความรู้และทักษะทางสัตวแพทย์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับการตรวจวินิจฉัยต่างๆและเครื่องมืออุปกรณ์เสริมในห้องผ่าตัด อาทิเช่น เครื่องอบฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนและแรงดันสูง (Autoclave) เครื่องเอกซเรย์ เครื่องดมยาสลบด้วยก๊าซพร้อมด้วย Ventilator เครื่องตรวจวัดระดับอ๊อกซิเจนในเลือดและชีพจร (Pulse Oxymeter machine) เครื่องควบคุมการให้น้ำเกลือ (Infusion Pump) ฯลฯ เป็นต้น และในส่วนขององค์ความรู้และทักษะด้านการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการผ่าตัดต่างๆให้แก่สัตว์เลี้ยงก็ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องเสมอมา

 ท่องโลก …เสาะหาภูมิความรู้ด้านสัตวแพทยศาสตร์ของสัตว์เลี้ยงในระดับนานาชาติ

ในปี ค.ศ. 1997 น.สพ.พงษ์เผ่า หอสถิตย์ธรรม ได้เดินทางไปเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติ World Congress of the World Small Animal Veterinary Association (WSAVA) 3rd-6th April 1997 ณ เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ และ WSAVA 24th-27th October 2003 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยรวมทั้งการเข้าร่วมงานประชุมวิชาการอื่นๆที่จัดโดยสถาบันทางสัตวแพทย์ต่างๆทั้งในและต่างประเทศอีกหลายต่อหลายครั้ง

เมืองเชียงใหม่ในช่วงเริ่มเปิดบริการเมื่อปี 2527 พบว่ากรณีสัตว์เลี้ยงได้รับอุบัติเหตุกระดูกหักทั้งสุนัขและแมวกลับปรากฏไม่มีบริการผ่าตัดรักษากรณีกระดูกหักไว้ให้บริการอย่างจริงจังแต่อย่างใด  ฉะนั้นการรักษาขณะนั้นจึงเป็นไปตามอัตภาพที่พอจะทำได้ เพราะการบริการด้านการศัลยกรรมผ่าตัดกระดูกขณะนั้นขาดแคลนทั้งบุคคลากรที่ชำนาญงานและเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับการทำศัลยกรรมผ่าตัดกระดูก ในกรณีเจ้าของสัตว์ป่วยประสงค์จะรักษาสัตว์เลี้ยงของตนที่ประสบอุบัติเหตุกระดูกหักอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้นำสัตว์ป่วยไปรับการรักษาที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นภาระยุ่งยากสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง

ในปี 2542 (ค.ศ.1999) น.สพ.พงษ์เผ่า หอสถิตย์ธรรม จึงถือโอกาสเดินทางไปดูงานด้านศัลยกรรมผ่าตัดกระดูก หรือที่เรียกว่า ออร์โธปิดิกส์ ณ Queensland Veterinary Specialists (หรือ West Chermside Veterinary Clinic เดิม) ซึ่งเป็น Specialist Referral Centre (ศูนย์รับส่งต่อเพื่อรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง) ดำเนินงานและบริหารโดย Dr.Richard Eaton-Wells ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลียและอยู่ดูงานที่นั่นเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ คือ เพื่อพัฒนาเพิ่มพูนความรู้และทักษะการทำศัลยกรรมผ่าตัดกระดูก ซึ่งก็ได้รับความรู้และประสบการณ์ภาคปฏิบัติมากมายเกี่ยวกับงานด้านศัลยกรรมผ่าตัดกระดูกตามเป้าหมายที่วางไว้ทุกประการ


อีกทั้งยังได้รับความรู้และประสบการณ์อื่นๆเกี่ยวกับศูนย์รับส่งต่อเพื่อทำการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกต่างหาก และนอกจากนี้ยังได้เดินทางไปเข้าร่วมสัมมนาทางด้านปฏิบัติการชื่อ Surgical Fixation of Fractures (A course in AO/ASIF Techniques 31st Annual Canine Basic Course) May 11-14, 2000 ณ The Hyatt Regency จัดโดย The Ohio State University, Columbus, Ohio, U.S.A. เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการผ่าตัดกระดูกให้มากยิ่งขึ้นไปอีก รวมทั้งยังได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาทางปฏิบัติการ WSAVA Orthopaedics lectures and workshops in Thailand-Bangkok and Chiang Mai, October 2000 โดยมี Dr.Geoff Robins, Specialist Small Animal Surgeon, Brisbane, Australia และ Dr. Roger Clarke เป็นผู้บรรยายและฝึกอบรม ณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ.2000 ได้เข้าร่วมอบรมการศึกษาต่อเนื่องผ่านทาง Internet แบบ online ดำเนินงานโดย Veterinary Information Network, Inc.แห่งสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ Renal Insufficiency CE course ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัย การรักษาและจัดการดูแลสุนัขและแมวที่มีปัญหาไตวายชนิดเรื้อรัง ในปี ค.ศ. 2001 ได้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเกี่ยวกับโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยงที่จังหวัดกาญจนบุรี ในหัวข้อ Small Animal Dermatology Diagnosis and Therapeutics, 30 November – 2 December 2001 Kanchanaburi, Thailand โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลีย คือ Dr.Beth McDonald เป็นวิทยากรบรรยาย

นอกจากนั้นยังเข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการประจำปีซึ่งจัดโดย สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย (VPAT) ระหว่าง 27-30 เมษายน 2008 ได้เข้าร่วมประชุมวิชาการ VPAT Regional Veterinary Congress 2008 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร และยังคงยึดถือปฏิบัติในอันที่จะการเข้าร่วมประชุมสัมมนาวิชาการอย่างต่อเนื่องเสมอมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อนำเอาความรู้และทักษะใหม่ๆที่ทันสมัยอยู่เสมอมาคอยไว้ให้บริการแก่สัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของทุกท่านอย่างดีที่สุด

This post is also available in: อังกฤษ