โรคพยาธิในเม็ดเลือดสุนัข – ภัยเงียบที่ต้องใส่ใจ
บางครั้งการพบมีเห็บตามตัวน้องหมาบรรดาท่านเจ้าของมักคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรที่มากไปกว่าการน้องหมาของท่านถูกดูดกินเลือดและทำให้เกิดภาวะจางไปบ้าง ไม่น่ามีปัญหาอะไร ดึงออกก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วเห็บคือ พาหะของโรคพยาธิเม็ดเลือดสุนัขหลายต่อหลายชนิดตัวฉกาจ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภัยอันตรายต่อสุขภาพน้องหมาเป็นอย่างยิ่ง โรคพยาธิเม็ดเลือดที่พบเห็นกันบ่อยๆในบ้านเรา ได้แก่ Babesia spp. เป็นต้นเหตุของโรค Babesiosis, Hepatozoon spp. เป็นต้นเหตุของโรค Hepatozoon และ Ehrlichia canis เป็นต้นเหตุของโรค Ehrlichiosis เป็นต้น
เท่าที่ทางโรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนาเคยตรวจน้องหมาจำนวนหลายต่อหลายตัวที่มาเข้ารับการตรวจรักษา ส่วนใหญ่เมื่อซักประวัติดูแล้วได้คำตอบว่าเคยถูกเห็บกัดมาไม่ว่าจะนานหลายปี หรือ เพิ่งถูกกัดเมื่อไม่นาน มักพบมีเชื้อโรคพยาธิเม็ดเลือดแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะมักพบเป็นโรคEhrlichiosis ในสัดส่วนที่สูงมาก
ดังเช่นกรณี น้องหมาชื่อ “บอมบี้” เพศ ผู้ อายุ 5 ปี เมื่ออาทิตย์ก่อนเจ้าของ คือ คุณยอดขวัญ มีซอง เล่าว่าเมื่อคืนก่อนนอนไม่หลับตลอดคืน ด้วยวิตกกังวลต่ออาการป่วยของ “บอมบี้”อย่างมากๆ เพราะอาการค่อนข้างไปทางร่อแร่จะไปแหล่มิไปแหล่ให้ได้ อาการที่ว่าได้แก่ ซึม ขาไม่มีแรงเดิน ขี้ตาเกรอะกรัง ปัสสาวะมีเลือดปน คุณเจ้าของจึงได้แต่ภาวนาขอให้สว่างเร็ว ๆ เพื่อว่าจะได้พา”บอมบี้” ไปพบหมอเพื่อตรวจรักษา พอถึงเวลาเช้าตรู่คุณยอดขวัญ ได้ชวนคนที่บ้านรีบบึ่งรถจากลำพูนมาเชียงใหม่พา”บอมบี้”เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนา
ผลจากการตรวจร่างกาย พบว่า ซึม มีไข้สูง 1030 ฟาเรนไฮต์ หลอดลมอักเสบ ปัสสาวะถ่ายลงบนพื้นในโรงพยาบาลมีเลือดปนอย่างเดียวกับน้ำล้างเนื้อ จากการซักประวัติจากเจ้าของบอกว่าไม่เคยมีประวัติถูกเห็บกัดมาก่อน แต่หมอก็อดสงสัยไม่ได้ว่าจะมีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำจากโรคพยาธิเม็ดเลือด Ehrlichiosis ขออนุญาตเจ้าของตรวจเลือด โดยใช้ “E.canis Test Kit” ปรากฏผลเป็นบวกต่อโรค E.canis และจากการตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและตรวจเลือดทางเคมีดังต่อไปนี้
ค่าผิดปรกติของเม็ดเลือด ได้แก่
- เม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงถึง 30,100 (ปกติ 5,000 – 14,100)
- ปริมาณเกล็ดเลือดลดลงเหลือ 137,000 (ปกติ 211,000-621,000)
- รูปร่างเม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติเล็กน้อย
ค่าผิดปรกติของเลือดทางเคมีที่ ได้แก่
- เอ็นไซม์ตับขยับสูง ได้แก่ ALT=45 (ค่าปรกติ 5-35) Alk = 90 (ค่าปรกติ 5-35)
- โปรตีนในเลือด อัลบูมิน ต่ำกว่าปกติ คือ 2.1 (ปรกติ 2.3-3.1)
สรุปจากผลตรวจข้างต้นจึงวินิจฉัยได้ว่า “บอมบี้” ป่วยเป็นโรค โรค Ehrlichiosis ตามที่หมอสงสัย และกรณีปัสสาวะมีเลือดปนก็เนื่องมาจากค่าเกล็ดเลือดต่ำอันเนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าว และยังไปทำให้ตับอักเสบด้วยตามที่ปรากฏผลตรวจเลือดทางเคมี ส่วนกรณีอ่อนแรงลุกเดินไม่ได้ก็น่าจะเนื่องมาจากข้ออักเสบที่เป็นผลจากเชื้อ E.canis รุกรานเข้าข้อต่อกระดูก และกรณีเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติมากๆถึง 30,100 นั้นน่าเป็นผลการติดเชื้อโรคมากกว่าชนิดเดียว คือ มีทั้งเชื้อ E.canis และเชื้อโรคอื่นๆในระบบทางเดินหายใจที่ทำให้หลอดลมอักสบตามที่ตรวจอาการพบตามที่กล่าวข้างต้น
การรักษาก็ต้องเน้นรักษาทั้งโรค Ehrlichiosis และการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ตลอดจนการให้ยาบำรุงตับ ซึ่งจากาการติดตามผลการรักษาในเบื้องต้นเจ้าของแจ้งว่าอาการกระเตื้องขึ้นชัดเจน และทางโรงพยาบาลจะนัดไปตรวจซ้ำหลังจากกินยารักษา Ehrlichiosis ครบ 30 วัน
บทเรียนที่เป็นอุทาหรณ์ให้เราทราบ ก็คือ แม้เห็บแค่เพียง 1 ตัวหากมีเชื้อโรค E.canis ปนติดตัวมาด้วยจากการไปดูดกินเลือดมาจากสุนัขป่วยด้วยโรคนี้ก็สามารถทำให้สุนัขของเราป่วยได้ดังเช่นกรณีของ “บอมบี้” ซึ่งเจ้าของบอกว่าไม่เคยพบเห็บกัดมาก่อน แต่ที่จริงอาจเคยกัดมาก่อนบ้างนานมาแล้วก็ได้จนเจ้าของลืมไปแล้ว ในกรณีอย่าง “บอมบี้” หากถึงมือหมอช้ากว่านี้มีสิทธิไปไม่รอดแน่ๆ ฉะนั้นทางโรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่โชตนาของเราจึงขอแบ่งปันประสบการณ์แก่ท่านเจ้าสุนัขทั้งหลายให้ตระหนักว่าหากน้องหมาของท่านเคยถูกเห็บกัดมาแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะต้องพาเขาไปตรวจเช็คดูว่าติดโรคนี้ด้วยหรือเปล่า เพราะแม้ติดโรคนี้ระยะแรกและยังไม่ได้แสดงอาการป่วยแต่อย่างใด แต่หากตรวจทราบและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆก็จะปลอดภัยกว่ามากเมื่อเทียบกับการพาไปรับการตรวจรักษาในตอนที่เขาแสดงของโรคขั้นรุนแรงแล้วและอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้แม้หมอจะพยายามเยียวยารักษาอย่างเต็มความสามารถก็ตาม